หน้าแรก เขียนใบสมัครงาน ลงโฆษณางาน ค้นหาใบสมัครงาน คู่มือการใช้งาน Menu

สนใจลงโฆษณา โทร. 02-275-1900, 02-612-4900, 038-395000

space
   ค้นบ่อย : หางานบัญชี, หางานธุรการ, หางานจัดซื้อ, หางานผู้จัดการ, หางานขับรถ, หางานบุคคล, หางานคลังสินค้า, หางานครู, หางานวิศวกร, หางานเขียนแบบ, หางานคีย์ข้อมูล, หางานการตลาด, หางานโรงแรม, หางานสิ่งแวดล้อม, หางานคอมพิวเตอร์, หางาน Programmer, หางานประชาสัมพันธ์, หางานช่าง, หางานสถาปนิก
เรื่อง 10 อาการที่ทำให้ต้องผ่าตัดใหญ่การศึกษาไทย
เขียนโดย Wonder Man

Rated: vote
by 0 users

คุณคิดอย่างไรกับเรื่องนี้?

 




10 อาการที่ทำให้ต้องผ่าตัดใหญ่การศึกษาไทย

โดย ภาวิช ทองโรจน์

มีการอ้างว่าประเทศไทย ได้ดำเนินการ *"ปฏิรูปการศึกษา"* ครั้งใหญ่ โดยเริ่มจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 และต่อมามีการตราพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติขึ้นมาเป็นครั้งแรก ซึ่งได้ประกาศใช้เมื่อปี พ.ศ.2542 รวมทั้งเกิดกฎหมายประกอบขึ้นมาอีกหลายฉบับ โดยมีความมุ่งหวังว่าการศึกษาของไทยจะได้รับการปฏิรูปในทุกมิติ ไม่ว่าจะเป็นโครงการสร้างการบริหาร การกระจายอำนาจ ตลอดไปจนถึงสาระที่สำคัญที่สุดของกระบวนการปฏิรูป อันได้แก่การปฏิรูปการเรียนรู้ ทั้งนี้ เพื่อเตรียมสังคมไทยเข้าสู่โลกยุคใหม่ โดยมุ่งสร้างทุนมนุษย์ที่มีคุณภาพสูง และทุนทางปัญญา ที่จะนำประเทศให้อยู่รอดในสังคมใหม่ที่มีความรู้เป็นปัจจัยหลักของทั้งระบบเศรษฐกิจ และสังคม

แต่นับจากการประกาศใช้กฎหมายสำคัญเหล่านั้นมาจนถึงปัจจุบัน กลับปรากฏว่า การศึกษาไทยก็ยังเต็มไปด้วยปัญหา คุณภาพการศึกษาดูจะตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ทุนมนุษย์ และทุนปัญญาก็อับจน โครงสร้างที่ได้ปฏิรูปไปแล้วก็ดูเหมือนจะใช้ไม่ได้ เหมือนกับกำลังจะฟ้องตัวเองว่า พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เป็นพิมพ์เขียวที่ผิด จนขณะนี้มีกระแสผลักดันให้เกิดการปฏิรูปการศึกษารอบสอง ซึ่งดูไปแล้วก็จะเห็นว่าเป็นเรื่องที่จำเป็น และอาจจะทำช้าไปแล้วด้วยซ้ำไป แต่การปฏิรูปรอบสองนี้ หากไม่วิเคราะห์ปัญหาให้รอบด้าน และหาแนวทางแก้ที่ถูกต้อง การศึกษาไทยก็อาจจะดิ่งลงเหวยิ่งขึ้นไปอีก

บทความนี้จึงพยายามที่จะประมวลอาการต่างๆ ของการศึกษาไทย เพื่อประโยชน์ในการผ่าตัดใหญ่ครั้งต่อไป จะได้กระทำได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น

- 1.คุณภาพการศึกษาพื้นฐานตกต่ำ : ความจำเป็นที่ต้องปฏิรูปการเรียนรู้

มีหลักฐานต่างๆ สะท้อนให้สังคมไทยเห็นมาอย่างต่อเนื่องถึงคุณภาพการศึกษาของไทยที่ตกต่ำ ทั้งที่เป็นการสำรวจโดยองค์กรระหว่างประเทศ และการประเมินโดยองค์กรภายในประเทศ เช่น สมศ.หรือผลการทดสอบการศึกษาระดับชาติ (NT) ซึ่งต่างก็พบภาพซ้ำๆ กันว่า นักเรียนไทยส่วนใหญ่มีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐาน ความรู้ที่ว่านี้หมายถึงวิชาที่สำคัญต่างๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ การคิดเชิงวิเคราะห์ ภาษา ซึ่งรวมถึงภาษาไทย นักเรียนที่จัดว่ามีความรู้จริงที่พอมีอยู่บ้าง ก็มีจำนวนน้อย เช่น การศึกษาขององค์การความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economics C0-0peration and Development, OECD) ที่รู้กันในชื่อของ PISA (Programme for International Students Assessment) พบว่านักเรียนไทยที่จัดได้ว่ามีความรู้วิทยาศาสตร์อยู่ในระดับสูงมีเพียง 1% เท่านั้นเอง ซึ่งคงจะได้แก่นักเรียนที่ไปชนะการแข่งขันโอลิมปิควิชาการสาขาต่างๆ และย่อมไม่ได้หมายถึงคุณภาพโดยเฉลี่ยของระบบการศึกษาไทย

PISA ยังพบว่า เด็กไทย 74% อ่านภาษาไทยไม่รู้เรื่อง คือมีตั้งแต่อ่านไม่ออก อ่านแล้วตีความไม่ได้ วิเคราะห์ความหมายไม่ถูก หรือแม้แต่ใช้ภาษาให้เป็นประโยชน์ในการศึกษาวิชาอื่นๆ ไม่ได้ คุณภาพที่ตกต่ำย่อมหมายถึงวิชาการ และองค์ความรู้ที่เรามีอยู่ในระบบการศึกษาไทยต่ำกว่ามาตรฐาน หมายถึงระบบการถ่ายทอดความรู้ รวมทั้งครูผู้สอนมีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐาน หมายถึงความด้อยคุณภาพของระบบสนับสนุนการเรียนรู้ต่างๆ เช่น การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ เป็นต้น ซึ่งในที่สุด ย่อมเป็นผลให้ผู้เรียนที่มีความรู้ต่ำกว่ามาตรฐาน แต่ที่วิกฤตที่สุดเหนือวิกฤตทั้งหลายคือ สภาพเหล่านี้ได้กลายมาเป็นความเคยชิน และชีวิตประจำวันของระบบการศึกษาไทย ซึ่งหากไม่มีการปฏิรูประบบการเรียนรู้ครั้งใหญ่ เราคงหนีพ้นจากวังวนนี้ยาก

- 2.ปัญหาของการปฏิรูปโครงสร้าง

กฎหมายที่กำหนดการปฏิรูปการศึกษาของไทย มีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของกระทรวงศึกษาธิการครั้งใหญ่ กรมต่างๆ ถูกยุบไป ได้มีการรวมเอาทบวงมหาวิทยาลัย และสภาการศึกษาแห่งชาติเข้ามาไว้ในกระทรวงศึกษาธิการ กลายเป็นโครงสร้างใหม่ คือมีหน่วยงานที่เรียกว่าองค์กรหลักห้าองค์กร ได้แก่ สำนักปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา และสำนักงานสภาการศึกษา มีหัวหน้าองค์กรเหล่านี้เป็นข้าราชการระดับปลัดกระทรวงถึง 5 คน ได้แก่ 4 เลขาธิการ และ 1 ปลัดกระทรวง ในระดับปฏิบัติ ได้มีหลักการให้มีการกระจายอำนาจการบริหารการศึกษา โดยกำหนดให้มีสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาอยู่ในทุกจังหวัด มีจำนวนเขตมากน้อยตามขนาดของประชากร และวางหลักไว้ว่า ในที่สุด โรงเรียนต่างๆ จะถูกถ่ายโอนจากโครงสร้างรูปแบบกรมแบบเดิม ไปสังกัดเขตพื้นที่

แต่จากวันนั้นมาถึงวันนี้ เรากลับพบปัญหาอันเกิดจากสูตรที่ไม่สำเร็จของการปฏิรูปโครงสร้างทับถมทวีคูณ จนปรากฏออกมาในรูปของข้อเท็จจริงเชิงประจักษ์ และข้อเรียกร้องต่างๆ ดังมีตัวอย่าง เช่น การถ่ายโอนสถานศึกษาไปสังกัดเขตพื้นที่ที่ยังไม่สามารถเกิดขึ้นได้ มีข้อเรียกร้องให้กลับมาตั้งกรมต่างๆ ขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวง เนื่องจากเห็นว่าโครงสร้างใหม่ไม่สามารถครอบคลุมภารกิจได้ครบถ้วน ในเขตพื้นที่ได้มีการเคลื่อนไหวให้แยกการบริหารระดับประถม และระดับมัธยมออกจากกัน (ซึ่งเป็นการกลับไปหาจุดเดิมก่อนการปฏิรูป) มีข้อเรียกร้องให้ตั้งทบวงการศึกษาขั้นพื้นฐาน รวมทั้งมีการชี้ประเด็นว่าการรวมเอาทบวงมหาวิทยาลัยเข้ามาไว้ในกระทรวงเดียวกันเป็นการบั่นทอนพัฒนาการของอุดมศึกษา การปรับโครงสร้างที่เกิดขึ้นมาแล้วนั้น ดูจะเป็นรูปธรรมเพียงประการเดียวที่ปรากฏให้เห็นจากกระบวนการปฏิรูปการศึกษาที่ขับเคลื่อนโดย พ.ร.บ. 2542 แต่ปัญหาที่ผุดขึ้นมาตามรายทางเหล่านี้ ชี้ประเด็นว่า แม้รูปธรรมประการดียวนี้ก็ยังมีปัญหา เพราะโครงสร้างใหม่น่าจะมีความไม่เหมาะสมจนมีข้อเรียกร้องให้ทบทวน หรือปรับปรุงเกิดขึ้นตลอดเวลา

- 3.ปัญหาของครู

ในประเทศฟินแลนด์ ซึ่งถือว่าเป็นประเทศที่คุณภาพการศึกษาดีที่สุดในโลก วิชาชีพที่ประชาชนนิยม และให้การยอมรับนับถือมากที่สุดคือ วิชาชีพครู แต่ในประเทศไทย สังคมกลับเห็นว่าในปัจจุบันวิชาชีพนี้ตกต่ำ จนองค์กรวิชาชีพครู เช่น คุรุสภา ต้องวางยุทธศาสตร์การพัฒนาวิชาชีพครูเพื่อให้กลับมาเป็นวิชาชีพชั้นสูงเหมือนในอดีต โดยมีมาตรการอันหนึ่งคือ การปรับปรุงกระบวนการผลิตครูโดยเพิ่มหลักสูตรจาก 4 ปี เป็น 5 ปี แต่ปัญหาของวิชาชีพครูอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้เพียงการเพิ่มเวลาเรียนเท่านั้น การเรียนเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งปี อาจเห็นข้อดีได้ชัดเจนคือ ช่วยสร้างประสบการณ์ในวิชาชีพให้มากขึ้นในระหว่างเรียน เพื่อให้ครูรุ่นใหม่พร้อมที่จะออกมาทำงานในสภาพจริง แต่วัตถุประสงค์ของคุรุสภาที่จะให้เงื่อนไขของการเพิ่มเวลาเรียนมาเป็นฐานในการเพิ่มเงินเดือน และความก้าวหน้าในการรับราชการนั้น ไม่น่าจะเป็นแนวทางที่แก้ปัญหาได้ เพราะแท้ที่จริงแล้ว ความก้าวหน้าทางราชการในระยะยาวของผู้สำเร็จการศึกษาด้วยหลักสูตร 4 ปี และหลักสูตร 5 ปีนั้น ไม่แตกต่างกันเลย

อย่างไรก็ดี ความตกต่ำของวิชาชีพครูอาจมีเหตุมาจากข้อเท็จจริงง่ายๆ ประการหนึ่ง ซึ่งจนบัดนี้ก็ยังไม่มีใครคิดที่จะแก้ไข นั่นคือการที่ประเทศไทยมีการผลิตครูมากถึงปีละประมาณ 12,000 คน ในขณะที่อัตราการบรรจุครูใหม่ในแต่ละปีมีเพียง 3-4 พันคนเท่านั้น ซึ่งหมายความว่าในแต่ละปี บัณฑิตครูที่จบออกมาใหม่จะมีการตกงานเบื้องต้นเกือบหนึ่งหมื่นคน สถานการณ์เช่นนี้ จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ส่งผลถึงภาพพจน์ และความนิยมในการเข้าศึกษาในสาขาวิชานี้ ไม่ดึงดูดให้นักเรียนที่เรียนเก่ง และมีโอกาสเลือกสาขาได้มากให้ตัดสินใจเข้ามาเรียนครู นอกจากนั้น ปัญหาของครูก็ยังมีเรื่องอื่นๆ อีกมาก เช่น ในภาพรวมประเทศไทยยังนับว่าขาดแคลนครู แต่นโยบายจำกัดกำลังคนภาครัฐก็เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้ ในภาพที่เป็นรายละเอียด ยังพบว่าเราขาดแคลนครูในสาขาวิชาสำคัญๆ เช่น วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษา เป็นต้น ยังพบอีกว่า ไม่มีความชัดเจนทางนโยบายในการที่จะสนับสนุนให้ผู้สำเร็จการศึกษาในสาขาวิชาที่ตรงกับเนื้อหาสาระมากกว่า เช่น บัณฑิตทางวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษา หันเข้ามาหาวิชาชีพครู ในทางตรงกันข้ามยังกลับพบมาตรการในเชิงกีดกันอีกด้วย เช่น การกำหนดให้ผู้ที่จะรับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพครูได้ต้องไปเรียนเพิ่มเติมอีกอย่างน้อยหนึ่งปี เป็นต้น

ปัญหาที่เป็นอมตะของครูไทยเห็นจะหนีไม่พ้นเรื่องหนี้สินครู ที่เป็นวาระที่รัฐมนตรีใหม่ทุกคนจะต้องพิจารณาดำเนินการ แต่ก็ยังไม่เห็นที่จะมีทางแก้ปัญหาได้อย่างเบ็ดเสร็จ เท่าที่ทำกันมาบ้างแล้วก็เป็นเพียงการหาแหล่งเงินกู้ใหม่ๆ เข้ามา เพื่อให้ครูเป็นหนี้เพิ่มเติมขึ้นไปอีกเท่านั้นเอง จนกลายมาเป็นคำถามว่า ทำไมเรื่องหนี้สินจึงจะต้องเป็นเรื่องที่คู่กับวิชาชีพนี้ อันที่จริง หากคิดให้เป็นธรรม ก็คงต้องยอมรับว่าประเทศไทยเรามีโครงสร้างเงินเดือนในระบบราชการที่โบราณจนไม่เหมาะกับสถานการณ์ในปัจจุบัน เรามีความแตกต่างระหว่างเงินเดือนแรกเข้าทำงานกับเงินเดือนที่พึงได้รับสูงสุดในชีวิตการทำงานถึงเกือบ 10 เท่า ในขณะที่ในประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหลายจะพบความแตกต่างเพียง 3-4 เท่า ซึ่งหมายความว่า บุคคลจะได้รับค่าจ้างเมื่อแรกเข้าทำงานสูงมากเพียงพอที่จะยังชีพได้ โดยอัตราเพิ่มตลอดเวลาที่ทำงานอาจไม่มาก หรือไม่ต้องมีการซอยขั้นเงินเดือนละเอียดหลายขั้นมากนัก ดังนั้น แนวทางแก้ไขสำหรับครูรุ่นใหม่ทางหนึ่งควรจะเป็นการปรับโครงสร้างเงินเดือนเสียใหม่ โดยเพิ่มเงินเดือนเมื่อแรกบรรจุให้มากขึ้น ครูก็ควรจะมีความกดดันในการดำรงชีพน้อยลง หันมาสนใจในหน้าที่การงานมากขึ้น

4.ขาดแคลนบัณฑิตแต่บัณฑิตก็ยังตกงาน

ประเทศเราไม่มีแผน และกลไกการกำกับการผลิตกำลังคนเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของประเทศ ที่เราพอจะมีบ้างคือตัวเลขความต้องการกำลังคนในบางสาขาวิชาชีพ แต่ทำอย่างไรที่จะได้กำลังคนมาตามตัวเลขนั้น กลายเป็นปลายเปิดที่ปล่อยให้สถาบันการศึกษาที่เป็นผู้ผลิตนำไปดำเนินการเองโดยไม่มีการกำกับทิศทาง ในขณะที่ผู้สำเร็จการศึกษาในบางสาขามีมากมายจนล้นงาน จนพบเนืองๆ ว่า ในการรับสมัครงานบางตำแหน่ง มีผู้สมัครหลายหมื่นคนเพื่อแย่งกันเข้าทำงานที่มีการรับเพียงไม่กี่สิบอัตรา แต่บางสาขาวิชากลับขาดแคลนกำลังคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรม และทางด้านการแพทย์ ยังมีปัญหาอื่นๆ อีก เช่น ในภาพรวม เราต้องการให้มีผู้เข้าศึกษาสายอาชีวะประมาณครึ่งหนึ่ง จึงจะทำให้มีกำลังคนเพียงพอต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมของประเทศ แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่า มีผู้เข้าเรียนอาชีวะเพียง 27% ทั้งนี้ นับรวมถึงผู้ที่ไม่ได้เรียนสายอาชีวะแท้ แต่ไปเรียนอยู่ในวิทยาลัยอาชีวะด้วย เช่น สาขาด้านการบริหาร ซึ่งหมายความว่า หากนับสายช่างจริงๆ จะมีจำนวนน้อยกว่านั้นมาก

นอกจากนั้น เพื่อให้เพียงพอต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูง เรายังตั้งเป้าหมายว่า ควรมีผู้ศึกษาในสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ไม่ต่ำกว่า 40% แต่กลับพบว่าผู้เรียนในสาขานี้มีเพียง 28% เท่านั้น ซึ่งตัวเลขนี้ลดลงจากเมื่อประมาณสิบปีที่แล้ว ที่มีผู้เรียนสายวิทยาศาสตร์มากกว่า 30% และยังมีแนวโน้มที่จะลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกไปจากนั้น ยังปรากฏว่ามีสาขาวิชาชั้นสูงอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีการผลิตบัณฑิตในประเทศไทย สถานการณ์เช่นนี้ย่อมส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการพัฒนาประเทศ โดยเฉพาะในการพัฒนาอุตสาหกรรมซึ่งได้กลายมาเป็นเส้นเลือดใหญ่ของระบบเศรษฐกิจ ความจำกัดของทรัพยากรมนุษย์ทั้งทางด้านสาขาวิชาชีพ จำนวนที่มี คุณภาพ และระดับของทักษะ ย่อมเป็นผลให้เกิดข้อจำกัดต่อขีดความสามารถของประเทศในภาพรวม

5.ปัญหาของอาชีวศึกษา

นอกจากความนิยมที่ตกต่ำ ทำให้มีผู้สนใจเข้าศึกษาน้อยลงดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว อาชีวศึกษาก็ยังประสบปัญหาด้านคุณภาพเช่นเดียวกับสายวิชาอื่นๆ อาชีวศึกษาไทยยังมีวัฒนธรรมแปลกๆ ที่ดูเหมือนจะไม่พบในที่ใดๆ ในโลก คือการยกพวกตีกัน แรกๆ ก็ดูเหมือนจะเป็นแค่เด็กชกต่อยกันธรรมดา แต่ต่อมาปัจจุบันได้พัฒนาไปถึงขั้นเอากันถึงเลือดถึงชีวิต เหตุเพียงเพราะอยู่ต่างสถาบันกัน การดึงดูดให้คนเข้าเรียนอาชีวศึกษาให้มากขึ้น และได้รับการพัฒนาทักษะอย่างถูกต้องและเหมาะสม รวมทั้งการเพิ่มสาขาวิชาที่ยังขาดแคลน หรือยังไม่มีการผลิตในประเทศ เป็นโจทย์ที่จะต้องแก้ไขให้ได้ แต่ความพยายามบางอย่าง เช่น การที่เปิดโอกาสให้อาชีวศึกษาจัดการศึกษาได้ถึงขั้นปริญญาเหมือนกับมหาวิทยาลัย กำลังเป็นที่ถูกจับตามอง และเป็นข้อวิตกว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกทางหรือไม่

ในอดีต เราต้องแก้ปัญหาของสถาบันการศึกษาที่จัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา แต่บังเอิญไปสังกัดอยู่ในหน่วยงานนอกระบบอุดมศึกษา โดยต้องกระทำกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เช่น การยกระดับวิทยาลัยวิชาการศึกษาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัย การยกระดับวิทยาลัยครูขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏถึง 41 แห่ง การยกระดับวิทยาลัยด้านสาขาวิชาชีพ ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 มหาวิทยาลัย แต่มีทั้งสิ้น 36 วิทยาเขต จนทำให้ขณะนี้เรามีมหาวิทยาลัยจำนวนมากเกินไป ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา นับตั้งแต่การควบคุมคุณภาพการศึกษา ไปจนถึงปัญหาการหาคนเข้าเรียนไม่ได้ตามเป้า จนปรากฏชัดเจนว่าในปัจจุบัน ประเทศไทยมีอุปทานด้านอุดมศึกษามากกว่าอุปสงค์ ขณะนี้เรากำลังจะมี "สถาบันอาชีวศึกษา" ในสถานภาพของอุดมศึกษาเต็มรูปแบบเกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง ในขณะที่โจทย์เรื่องอุปสรรค-อุปทาน ด้านอุดมศึกษานั้นหนักหนาอยู่แล้ว ในอนาคตจะไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่เราจะต้องมาดำเนินตามรอยเดิม คือการยกระดับสถาบันเหล่านี้ขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยเหมือนดังที่เคยทำมาแล้ว

6.วิทยาลัยชุมชน

วิทยาลัยชุมชน เกิดขึ้นมาจากแผนการปฏิรูปการศึกษาฉบับดั้งเดิม (พ.ศ.2542) ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงแผนหลัก แต่กลับไม่ได้ปรับในรายละเอียดของกิจกรรม "วิทยาลัยชุมชน" จึงได้เกิดขึ้น และคงอยู่ในสภาพที่อิหลักอิเหลื่อ ความเดิมของเรื่องนี้คือ เมื่อแรกที่จะมีการปฏิรูปครั้งใหญ่ ตามพิมพ์เขียวของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 นั้น ได้มีแนวคิดที่จะผนวกเอาอาชีวศึกษาชั้นต้นเข้าไว้เป็นส่วนของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และให้ชั้นสูงรวมเข้าเป็นส่วนของอุดมศึกษา พูดง่ายๆ คือไม่ต้องมีแท่งอาชีวะ และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้แก่บุคคลที่อาจมีปัญหาในการเข้าสู่ระบบการศึกษาปกติ จึงได้มีแนวคิดในการตั้งวิทยาลัยชุมชนขึ้นมา คล้ายกับที่มีในต่างประเทศ และให้วิทยาลัยชุมชนเป็นส่วนหนึ่งของระบบอุดมศึกษา ซึ่งหวังว่าจะกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่บุคคลอาจได้รับการศึกษาขั้นอุดมศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญา และอาจเป็นช่องทางให้ได้ศึกษาต่อถึงขั้นปริญญาได้ในที่สุด

แต่ต่อมา ได้มีการโต้แย้งแนวคิดนี้ และด้วยพลังทางการเมือง เรื่องจึงลงเอยว่าอาชีวศึกษายังคงอยู่ โดยได้จัดโครงสร้างเป็นองค์กรหลักแยกเฉพาะจากการศึกษาขั้นพื้นฐานและอุดมศึกษา วิทยาลัยชุมชนที่ได้เกิดขึ้นมาแล้ว รวม 20 แห่ง จึงตกอยู่ภายใต้ปัญหาหลายประการ นับตั้งแต่ความไม่ชัดเจนของสถานภาพ และพันธกิจที่มีบางส่วนซ้ำซ้อนกับอาชีวศึกษาอย่างเลี่ยงไม่ได้ ความคาดหวังของชุมชนที่คิดว่ามีอุดมศึกษาอยู่ในพื้นที่ และอาจมีโอกาสพัฒนาขึ้นเป็นมหาวิทยาลัยในที่สุด ความคาดหวังที่จะได้รับการจัดสรรทรัพยากรต่างๆ จากหน่วยงานส่วนกลาง ในขณะที่ในหลักการกลับกลายเป็นสวนทางกัน กล่าวคือ มีหลักการวางไว้ว่าวิทยาลัยชุมชนจะต้องได้รับการสนับสนุนจากท้องถิ่น ไม่ว่าจะเป็นด้านอาคารสถานที่ งบประมาณบางส่วน และบุคลากร

สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาต้องใช้ความพยายามประคับประคองอย่างมากเพื่อไม่ให้วิทยาลัยชุมชนดำเนินไปโดยผิดจากปรัชญาเดิม รวมทั้ง ความพยายามอีกด้านหนึ่งที่ดูจะมีผลเป็นรูปธรรมค่อนข้างน้อย คือการร่วมมือประสานงานกันระหว่างวิทยาลัยชุมชนกับสถาบันอุดมศึกษาหลัก อันได้แก่มหาวิทยาลัยที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งมหาวิทยาลัยทั้งหลายดูจะไม่นำพาที่จะให้ความช่วยเหลือวิทยาลัยชุมชน ขณะนี้มีความพยายามที่ยกร่างพระราชบัญญัติวิทยาลัยชุมชน เพื่อให้เกิดความชัดเจนของพัฒนาการของการศึกษาในรูปแบบใหม่นี้

7.คุณภาพอุดมศึกษา/ปริญญาเฟ้อ

ในการประมวลปัญหาเพื่อจัดทำกรอบแผนอุดมศึกษาระยะยาว ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2550-2565) โดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) ได้สรุปปัญหาของอุดมศึกษาไทยว่า เป็นระบบที่ "ไร้ทิศทาง ซ้ำซ้อน ขาดคุณภาพ และขาดประสิทธิภาพ" เมื่อเกือบ 20 ที่ผ่านมา มีข้อมูลที่ทำให้เราวิตกว่า ประชาชนไทยได้รับโอกาสในการเข้าสู่ระบบอุดมศึกษาค่อนข้างต่ำ คือเพียง 14% ของจำนวนประชากรวัยอุดมศึกษาเท่านั้นเอง ผลที่ตามมาคือ เราได้เร่งเปิดมหาวิทยาลัยขึ้นมาอีกเป็นจำนวนมาก จากมหาวิทยาลัยของรัฐเดิมที่มีเพียง 20 แห่ง ได้ขยายจำนวนเป็น 78 แห่ง รวมกับมหาวิทยาลัยเอกชน วิทยาลัยชุมชน และสถาบันในสังกัดอื่นแล้ว เรามีสถาบันอุดมศึกษาประมาณ 255 แห่ง โอกาสการเข้าสู่อุดมศึกษาจึงเปลี่ยนไปเป็นใกล้ 50%

แต่ปัจจุบันสถานการณ์ด้านประชากรเปลี่ยนไป เนื่องจากประเทศไทยได้เลยยุคคนเกิดมากมาแล้ว ผู้สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายจึงมีจำนวนลดลงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวน 800,000 เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา เหลือเพียง 600,000 ในปัจจุบัน และยังลดลงอีกเรื่อยๆ อุดมศึกษาไทยจึงมีอุปทานมากกว่าอุปสงค์ มหาวิทยาลัยหลายแห่งเริ่มมีปัญหาเรื่องหาคนเข้าเรียน ทำให้ประสบปัญหาเรื่องความคุ้มทุน นำไปสู่ความจำเป็นที่ต้องดำเนินการด้านการตลาดทุกวิถีทาง และมุ่งเปิดสอนแต่สาขาวิชาที่ทำได้ง่าย ต้นทุนต่ำ และได้เงินเร็ว ซึ่งระบาดไปทุกระดับชั้นปริญญา เรามีบัณฑิตล้นงานในหลายสาขา แต่ขณะเดียวกันก็มีการขาดแคลนในสาขาวิชาที่ยากๆ มหาวิทยาลัยจำนวนมากมุ่งหาเงินจนเป็นระบบการศึกษาเชิงปริมาณ ความจำเป็นที่ต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดเช่นนี้ อาจพอเข้าใจได้สำหรับมหาวิทยาลัยเอกชนซึ่งต้องแบกภาระค่าดำเนินการต่างๆ ด้วยรายได้ที่ต้องหามาเอง

แต่ที่เข้าใจไม่ได้เลยก็คือ บัดนี้สถานการณ์เช่นนี้ได้กระจายเข้าไปสู่มหาวิทยาลัยของรัฐด้วย ในรูปแบบของการเพิ่มจำนวนนักศึกษาโดยตรง หรือการจัดทำเป็นโครงการพิเศษในลักษณะต่างๆ รวมทั้งเปิดสอนนอกสถานที่ตั้ง ซึ่งหากวิเคราะห์การเงินของโครงการเหล่านี้แล้วจะพบว่าส่วนใหญ่กลายเป็นค่าสอนของอาจารย์ สถานการณ์เช่นนี้ลุกลามไปจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่า ปริญญาเฟ้อ ทุกระดับชั้นปริญญา กลายเป็นค่านิยมของสังคมที่ต้องเรียนอย่างน้อยถึงปริญญาโท และกำลังจะคุกคามต่อไปถึงปริญญาเอก โดยมหาวิทยาลัยเองได้มีส่วนในการสร้างอุปสงค์เทียม มหาวิทยาลัยเล็กๆ มีอาจารย์เพียงไม่กี่คนก็สามารถเปิดสอนระดับปริญญาเอกได้แม้ยังไม่มีประสบการณ์ หรือมีฐานด้านการวิจัยซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของขั้นปริญญาเอกเลย

เมื่อเราสร้างระบบอุดมศึกษา เราก็ดูมาจากฝรั่ง และเชื่อตามฝรั่งว่าอุดมศึกษาต้องมีความเป็นอิสระ เราจึงได้มุ่งพัฒนาในทิศทางนั้น คือปลดปล่อยให้สถาบันอุดมศึกษาทุกแห่งเป็นอิสระ โดยหวังว่าจะมีสภามหาวิทยาลัยทำหน้าที่ดูแลแทนสังคม แต่การหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ เพราะส่วนใหญ่ของสถาบันอุดมศึกษาดำเนินการบนความเป็นอิสระนี้โดยขาดความรับผิดชอบต่อสังคม สภามหาวิทยาลัยก็ไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง จึงเป็นตัวแทนสังคมที่ไร้ประสิทธิภาพในการดูแลมหาวิทยาลัย หลักการความเป็นอิสระนั้นถูกต้อง แต่มหาวิทยาลัยไทยส่วนใหญ่ยังไม่พร้อมที่จะเข้าสู่หลักการนี้ เหมือนเด็กที่ยังไม่สามารถรับผิดชอบตนเองได้ เราจึงได้เห็นภาพของอุดมศึกษาในเชิงปริมาณแต่คุณภาพต่ำ และปริมาณก็ยังบิดเบี้ยวไปจากความต้องการกำลังคนที่แท้จริงของประเทศ

ปัญหาของการทุจริตทางการศึกษาตั้งแต่ลอกข้อสอบถึงจ้างทำวิทยานิพนธ์ พบจนเป็นสภาพปกติ อาจารย์มหาวิทยาลัยไทยในภาพรวมจัดว่ามีคุณวุฒิต่ำ เพราะจบการศึกษาขั้นปริญญาเอกรวมกันแล้วไม่ถึง 30% (นอกจากมหาวิทยาลัยชั้นนำไม่กี่แห่งที่อาจมีอาจารย์ปริญญาเอกเกิน 50%) ในขณะที่ในมหาวิทยาลัยระดับโลกทั้งหลาย ชีวิตของการเป็นอาจารย์จะต้องเริ่มต้นที่ระดับปริญญาเอก หรือสูงกว่า สกอ.ในปัจจุบันเปรียบเสมือนยักษ์ไร้ตะบอง คือไม่มีกลไกที่จะไปติดตามตรวจสอบ หรือลงโทษมหาวิทยาลัยนอกแถวเหล่านี้ได้ สกอ.ได้รับการพัฒนาวัฒนธรรมการทำงานมาโดยต้องเป็นผู้สร้างความเป็นอิสระให้แก่มหาวิทยาลัย สกอ.จึงมีหน้าที่หลักเพียงการออกกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่หากมหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตาม สกอ.ก็ไม่มีกลไกใดที่จะทำให้ทราบได้ หรือแม้ว่าทราบแต่ก็ไม่มีอำนาจโดยตรงที่จะดำเนินการใดๆ ได้ อย่างมากก็ทำได้เพียงตักเตือน เราจึงจะพบอยู่บ่อยๆ ว่า มหาวิทยาลัยเปิดหลักสูตรโดยมีองค์ประกอบต่างๆ ต่ำกว่าเกณฑ์ที่ สกอ.กำหนด

อุดมศึกษาเป็นกลไกที่สำคัญอย่างยิ่งของประเทศชาติ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การอยู่รอดของชาติขึ้นอยู่กับทุนทางปัญญา แต่อุดมศึกษาไทยเติมสิ่งนี้ให้แก่ชาติไทยน้อยมาก ประเด็นสำคัญประการหนึ่งที่เกิดจากการปฏิรูปอุดมศึกษาน่าจะเป็นการยุบทบวงมหาวิทยาลัยไปรวมกับกระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้แนวคิดง่ายๆ ว่า เมื่อเป็นการศึกษาเหมือนกัน ก็ควรรวมอยู่กระทรวงเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการบูรณาการ แต่แท้ที่จริงนั้น อุดมศึกษากับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีเป้าหมายที่ต่างกัน ในขณะที่การศึกษาขั้นพื้นฐานเน้นที่การสร้างขีดความสามารถขั้นพื้นฐานของประชากร แต่อุดมศึกษาเน้นไปที่การสร้างขีดความสามารถระดับสูงเพื่อให้ประเทศแข่งขันได้ และไม่ได้เน้นที่ปัจเจกบุคคลเท่านั้น หากแต่เน้นที่การสร้าง และพัฒนาองค์ความรู้ ตลอดจนการประยุกต์ความรู้ในโลกของเทคโนโลยีซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจ เราจึงจะเห็นว่า ในประเทศที่มุ่งการสร้างขีดความสามารถขั้นสูงทั้งหลายจะแยกการบริหารอุดมศึกษาออกมาจากการศึกษาขั้นพื้นฐานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งทั้งสิ้น และมักจะพบเสมอว่ามีการผนวกรวมระบบการวิจัยไว้กับอุดมศึกษาด้วย เช่น ประเทศอิตาลี มีกระทรวงมหาวิทยาลัยและการวิจัย เป็นต้น


"8.การขาดวิจัยและพัฒนา ขาดนวัตกรรม และปัญหาความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม"

ในปี 2548 อาจารย์อุดมศึกษาไทยรวมประมาณ 50,000 คน ตีพิมพ์ผลงานวิจัยเพียง ประมาณ 2,000 ฉบับ ในจำนวนนี้ 90% เกิดมาจากมหาวิทยาลัยเพียง 8 แห่ง ซึ่งหมายความว่ามหาวิทยาลัยที่เหลืออีกร้อยกว่ามหาวิทยาลัยตีพิมพ์เพียง 10% เท่านั้นเอง แต่ถ้าดูในรายละเอียด ยังพบว่าแม้ในมหาวิทยาลัยที่ตีพิมพ์มากที่สุดรวม 8 แห่งนี้ เมื่อเฉลี่ยตามจำนวนอาจารย์แล้ว มีการตีพิมพ์เพียงคนละ 0.12 บทความเท่านั้นเอง ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อาจารย์ของเขาจะตีพิมพ์คนละไม่ต่ำกว่า 2 ฉบับต่อปี มากกว่าที่ดีที่สุดของเราถึง 20 เท่า

ในภาพรวมการตีพิมพ์ของอาจารย์ในสหรัฐอเมริกา ประมาณปีละ 200,000 ฉบับ ญี่ปุ่น 50,000 ฉบับ สหราชอาณาจักร 40,000 จีน 12,000 อินเดีย เกาหลี สิงคโปร์ ประมาณ 10,000 ฉบับ เป็นต้น ข้อมูลเช่นนี้ชี้ชัดเจนว่ามหาวิทยาลัยของเราอ่อนด้อยในด้านการวิจัย ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาประเทศ เป็นที่ยอมรับกันในสากลว่า มหาวิทยาลัยต้องเป็นต้นกำเนิดของการวิจัย และต้องเน้นภาระหน้าที่เรื่องการวิจัย เพราะการวิจัยเป็นการสร้างองค์ความรู้ หากเราไม่มีการวิจัย เราก็จะขาดทุนทางปัญญา ในโลกยุคเศรษฐกิจฐานความรู้ ทุนทางปัญญาถูกเปลี่ยนไปเป็นนวัตกรรมซึ่งกลายเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยหลักของธุรกิจ และระบบเศรษฐกิจ ยิ่งมีนวัตกรรมที่เกิดจากความรู้ระดับสูง ผลิตภัณฑ์นั้นก็ยิ่งมีมูลค่าเพิ่มสูง ส่งผลต่อความเข้มแข็งของระบบเศรษฐกิจในที่สุด เมื่อประเทศเราขาดนวัตกรรม เราจึงเสียเปรียบทางเศรษฐกิจอย่างเลี่ยงไม่ได้ ทั้งหมดนี้ เกิดมาจากที่ระบบการศึกษาที่มีความอ่อนแอด้านการวิจัย

นอกจากนั้น เรายังพบอีกว่าสถาบันการศึกษาในประเทศที่มีความเติบโตทางด้านเศรษฐกิจทั้งหลาย มีบทบาทในการเป็นต้นกำเนิดของธุรกิจโดยตรง โดยการสนับสนุนให้มีการนำเอาการประดิษฐคิดค้นจากการวิจัยมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ และสร้างหน่วยวิสาหกิจ ได้แก่ การเกิดบริษัทต่างๆ ซึ่งมักจะจัดในรูปของหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในมหาวิทยาลัย หรือสถาบันอาชีวศึกษา แต่ละปีจะมีบริษัทเกิดใหม่จำนวนมากจากหน่วยบ่มเพาะเหล่านี้ ทำให้ระบบเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้นมีหน่วยการผลิตใหม่ๆ เกิดขึ้น ซึ่งผลักดันให้เศรษฐกิจมีการขยายตัว และเกิดการเจริญเติบโต เช่น ในมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ เป็นต้น เราจะพบว่ามีหน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจทั้งในระดับคณะวิชา และระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงหน่วยบ่มเพาะในระดับชาติอีกด้วย

ในประเทศไทย เราขาดระบบบ่มเพาะเช่นนี้ในสถาบันการศึกษา แต่ที่จริงเราขาดมาตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือขาดนวัตกรรมด้วย แม้ สกอ.ได้เริ่มส่งเสริมให้มีโครงการ "หน่วยบ่มเพาะวิสาหกิจในมหาวิทยาลัย" เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ แต่แรงผลักดันก็ยังอ่อน บัณฑิตไทยจึงเป็นเพียงมนุษย์เงินเดือน เดินเข้าสู่ระบบการผลิตเดิมที่มีอยู่แล้ว การเกิดวิสาหกิจใหม่ๆ มีน้อยมาก เราจึงถูกครอบงำโดยวิสาหกิจที่มาจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ การที่เรามองไม่เห็นว่าพันธกิจของมหาวิทยาลัย คือการสร้างความรู้จึงได้เหมารวมระบบมหาวิทยาลัยไว้กับระบบการศึกษาหลักก็ดี หรือการที่เราตัดตอนระบบการบริหารการวิจัยของประเทศออกเป็นคนละส่วนกับอุดมศึกษาก็ดี ล้วนแต่เป็นรูปแบบของการจัดทัพที่อ่อนแอ ที่จะไม่เอื้อให้ระบบการสร้างทุนทางปัญญาของประเทศเกิดขึ้นได้โดยเต็มตามศักยภาพ

9.การปฏิรูปการเงินเพื่อการอุดมศึกษา

ต้นเหตุของความอ่อนแอของอุดมศึกษาประการหนึ่งมาจากระบบการเงินของอุดมศึกษาที่ล้าสมัย เมื่อปี พ.ศ.2548 เมื่อกลุ่มมหาวิทยาลัยราชภัฏเริ่มเข้ามารวมอยู่ในสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา เราพบความแตกต่างของงบประมาณที่รัฐจัดให้มหาวิทยาลัยแบบฟ้ากับดิน มหาวิทยาลัยที่ได้งบประมาณน้อยที่สุดได้น้อยกว่า 50 ล้านบาท ในขณะที่มหาวิทยาลัยที่ได้มากที่สุด ได้เกิน 5,000 ล้านบาท เราอาจพออธิบายได้ว่า เพราะมหาวิทยาลัยเหล่านี้มีขนาด และภาระหน้าที่ต่างกัน จึงได้งบประมาณต่างกัน ซึ่งก็พอฟังได้ แต่แท้ที่จริงแล้ว เราไม่มีระบบการวิเคราะห์งบประมาณที่เหมาะสมที่จะส่งผลต่อการพัฒนามหาวิทยาลัยตามศักยภาพ การได้มาซึ่งงบประมาณเป็นการที่แต่ละมหาวิทยาลัยติดต่อประสานตรงกับสำนักงบประมาณ การเพิ่มของงบประมาณแต่ละปีอยู่บนฐานของตัวเลขในปีที่ผ่านๆ มา นอกจากนั้น เรายังมีระบบการจัดเก็บค่าเล่าเรียนที่ไม่ได้มีหลักการใดๆ เป็นพื้นฐาน มหาวิทยาลัยอยากจะเก็บเท่าไรก็อยู่บนความรู้สึก และดูจากตัวอย่างของมหาวิทยาลัยข้างเคียง

ยังพบว่ามีความต่างกันมากระหว่างมหาวิทยาลัยของรัฐ และของเอกชน ภาระที่ตกต่อผู้เรียนจึงไม่เป็นธรรม เด็กที่เรียนดีที่มักจะมาจากครอบครัวที่พอมีอันจะกิน หรือร่ำรวย มีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยของรัฐชั้นดีได้มากกว่า ซึ่งเสียค่าใช้จ่ายต่ำกว่า ในขณะที่เด็กเรียนไม่ค่อยดี ซึ่งมักจะมาจากครอบครัวที่ด้อยทางฐานะ มักต้องพึ่งมหาวิทยาลัยเอกชนที่เก็บค่าใช้จ่ายสูงกว่า หรือต้องไปเรียนในโครงการพิเศษในมหาวิทยาลัยของรัฐที่เก็บค่าเล่าเรียนสูงกว่าโครงการปกติโดยหาเหตุผลอธิบายได้ไม่ชัดเจน เรามีกองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ยังตอบสนองความต้องการไม่ได้ทั้งหมด และมีระบบการจัดเก็บหนี้ที่ด้อยประสิทธิภาพ ภายใต้ข้อจำกัดของงบประมาณและเงื่อนไขเหล่านี้

หากเรายังปล่อยระบบการเงินของอุดมศึกษา (และอาจรวมถึงอาชีวศึกษาด้วย) ยังเป็นอยู่เช่นนี้ การศึกษาของเราก็จะอยู่ภายใต้ข้อจำกัดของการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เหมาะสม และไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นปัจจัยที่เหนี่ยวรั้งการพัฒนา ในประเทศที่อุดมศึกษาเจริญทั้งหลาย มักจะมีองค์กรอิสระสำหรับการจัดการการเงินของอุดมศึกษา ซึ่งเป็นตัวกลางระหว่างรัฐบาล และสถาบันอุดมศึกษา และมีหลักการการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับภารกิจ คุณภาพ และผลผลิต ของระบบอุดมศึกษาในภาพรวม และของสถาบันอุดมศึกษาแต่ละแห่ง

10.เทคโนโลยีสารสนเทศทางการศึกษา

ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศค่อนข้างต่ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เทคโนโลยีสารสนเทศที่ใช้ในการศึกษา พบว่าเรามีการใช้คอมพิวเตอร์เพียง 43 เครื่องต่อประชากร 1,000 คน ในขณะที่ญี่ปุ่นใช้ 477 เครื่อง เกาหลีใต้ 324 เครื่อง ไต้หวัน 314 เครื่อง และมาเลเซีย 137 เครื่อง ตามลำดับ ในสหรัฐอเมริกามีโครงการ "หนึ่งนักเรียน-หนึ่งเครื่องคอมพิวเตอร์" หรือ One Laptop Per Child (OLPC) ในประเทศไทย เครื่องคอมพิวเตอร์ในโรงเรียนโดยทั่วไปยังขาดแคลน หรือแม้จะพอมีบ้าง แต่ก็ยังมีความขาดแคลนแหล่งเรียนรู้โดยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ หลายๆ ประเทศจัดให้เรื่องการเรียนแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีเลิร์นนิ่ง (e-learning) เป็นวาระแห่งชาติ ซึ่งไม่จำกัดอยู่เฉพาะการศึกษาในระบบเท่านั้น ทั้งนี้ เพราะได้มีการพิสูจน์แล้วว่า อีเลิร์นนิ่ง เป็นระบบการเรียนที่มีประสิทธิภาพสูง เอื้อต่อการเรียนรู้ของผู้เรียนที่อาจมีศักยภาพต่างๆ กัน ให้มีโอกาสเรียนรู้เท่าเทียมกันได้ในที่สุด เป็นระบบที่ต้นทุนในภาพรวมต่ำ เพราะสามารถขยายผลไปถึงผู้เรียนได้เป็นจำนวนมาก อีเลิร์นนิ่งยังช่วยให้ระบบการจัดการความรู้ของสังคมมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และยังเอื้อต่อการศึกษาตลอดชีวิตของประชากรอีกด้วย ที่สำคัญที่สุด คือเป็นระบบที่จะช่วยให้การปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ของระบบการเรียนรู้ ที่เน้นการเรียนมากกว่าการสอน หรือผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ให้เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ซึ่งการเรียนตามกระบวนทัศน์ใหม่นี้จะเหมาะสมกับโลกยุคเทคโนโลยีสารสนเทศที่ต่อเนื่องมาเป็นยุคสังคมฐานความรู้ ที่ความรู้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว มีการขยายตัวของฐานความรู้อย่างมหาศาล หากระบบจัดการความรู้ไม่มีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลให้สังคมนั้นๆ มีความอ่อนด้อยทางปัญญาได้ในที่สุด ถ้าเราไม่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีสารสนเทศ เราก็จะตกอยู่ในสภาพเช่นนั้น แต่การใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ไม่ได้หมายความเพียงการซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์แจกไปยังโรงเรียน หรือนักเรียน หากแต่ยังต้องจัดให้มีทรัพยากรการเรียนรู้ที่เพียงพอ และโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ และระบบจัดการความรู้ที่มีประสิทธิภาพ จุดเด่นข้อหนึ่งของ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 คือการที่กำหนดไว้ว่าต้องมีการใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา แต่รูปธรรมของบทบัญญัตินี้ยังไม่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน




ความคิดเห็นของคุณกับบทความนี้ ...

 

user_icon

Knowledge Center
knowledge center
knowledge

star

70 สิ่งที่..คุณอาจเพิ่งรู้
 
เรื่องน่ารู้ตามหมวดหมู่
• การแพทย์
• ความรู้ทั่วไป
• เรื่องของผู้หญิง
• กีฬา
• ข่าวและสื่อ

และอื่น ๆ อีกมาก

  ค้นหาเรื่องที่คุณสนใจ
ระบุ keyword
 
True vision

TV Icon

TV Interview

หลากเรื่องราวทางธุรกิจ แง่มุมของผู้บริหาร จากบริษัทชั้นนำต่างๆ

dot
HR Corner
สัมภาษณ์คัดเลือกผู้สมัครงานอย่างไร? ให้ตรงสเป็ค
https://www.jobpub.com/new_images/play.gif
 
The Seeds of Innovation นวัตกรรมใหม่แห่งการพัฒนาบุคลากร
https://www.jobpub.com/new_images/play.gif
 
การสร้างความแตกต่าง ให้เหนือคู่แข่ง
คุณมกร พฤฒิโฆสิต
https://www.jobpub.com/new_images/play.gif
dot

https://www.jobpub.com/new_images/playall_b.gif

 

หางานบ่อย : ลามจีน พัฒนาหมู่บ้าน ล่ามพม่า งานว่างมหาชัย แม่บ้านฝรั่ง กรุงเทพเหล็กกล้า ดนตรี g0hksohkmujlv[gmup[ ธนบุรี งาน Pcพัทยา cmg ถ่ายนภาพ dolo หัวหน้าฝ่ายบุคคล ครู เทคนิค ตำแหน่งงานว่าง เนชั่น บริษัทเซส วนิษา auto เสิร นาการ ันท น กุ๊กโรงแรมกุงเทพ ypryuryo พัฒนา การ งานฝ่ายผลิต ลาดกระบัง บัญชี(จ-ศ) ขล สมัครงานธุรการโรงเรียน นนทบุรี tetooyot งด ตำแหน่งเจ้าหน้าที่ประสานงาน พนักงานทั่วไป วุฒิม.๖ พนักงานธุรการ ปวส. ธุรการ ประสานงานสมุทรปราการ หัวหน้า ผลิต หัวหน้ารถขนส่ง พนักงาน นวดสปา วุฒิม.6 หญิง ลาดกระบัง เจ้าหน้าที่ธุรการบุคคล ลำลูกกา เจ้าหน้าที่ธุรการแถวลาดพร้าว ผนักงานขับรถ ชลบุรี งานประจำ กทม. วุฒิ.3แถวสะพานควาย ขานย รามคำแหง 39 สมัครงาน ขายแว่นบิวตี้ฟลู เลขาแหลมฉบัง ขัยรถตูุุ้้ วุฒิ ม.6 เขตบางเขนงานโรงงาน 304 MProject Manager